ในบทความที่แล้ว ผมได้พูดถึง “เทคโนโลยี Advanced Robotic” หรือ “เทคโนโลยีหุ่นยนต์ขั้นสูง” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มุ่งหวังให้มาทำงานแทนมนุษย์ โดยเฉพาะการทำงานที่ต้องเสี่ยงอันตรายมากๆ สำหรับเทคโนโลยีที่จะนำเสนอในฉบับนี้ เป็นเทคโนโลยีที่ 6 ใน 12 เทคโนโลยีที่จะมีผลอย่างยิ่งต่อชีวิตของเรา เทคโนโลยีนี้ ก็คือ “เทคโนโลยียานพาหนะไร้คนขับ (Autonomous and near-autonomous vehicles) ซึ่งเทคโนโลยีถือได้ว่าเป็น Sub set ของเทคโนโลยี “Advanced Robotic” ที่ได้นำเสนอไปแล้วในบทความที่แล้ว
มากกว่า 300,000 ไมล์ กับ อุบัติเหตุเพียง 1 ครั้ง
Google Inc. หรือ บริษัท กูเกิล เจ้าของเว็บ Search Engine ระดับโลก www.Google.com ได้พัฒนายานพาหนะไร้คนขับขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 10 คัน ประกอบด้วย โตโยต้า พรีอุส 6 คัน, ออดี้ ทีที 1 คัน, และ เล็กซัส อาร์เอ๊กซ์ 450 เอช 3 คัน และเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2555 กูเกิลได้นำวีดีโอสาธิตยานพาหนะไร้คนขับดังกล่าวมานำเสนอผ่านเว็บไซด์ (มีคลิป..ครับ)
จากการทดสอบ ยานพาหนะไร้คนขับของ กูเกิล สามารถพาผู้โดยสารออกเดินทางจากจุดตั้งต้น คือ ที่บ้านของผู้ทดสอบ เดินทางไปตามเส้นทางที่กำหนด และกลับมาสู่ที่บ้านได้อย่างปลอดภัย และ ต่อมาในเดือน สิงหาคม ปีเดียวกัน ทีมงานพัฒนายานพาหนะไร้คนขับ ของ กูเกิล ออกมายืนยันว่า ได้ทำการทดสอบยานพาหนะไร้คนขับ เป็นระยะ 300,000 ไมล์ หรือ 500,000 กิโลเมตร ได้อย่างสมบูรณ์ นอกเหนือไปจากนั้น 3 มลรัฐของสหรัฐอเมริการ ได้แก่ เนวาดา, ฟลอริดา และ แคลิฟอร์เนีย ได้อนุมัติให้ผ่านกฏหมายที่อนุญาติให้ใช้ยานพาหนะไร้คนขับได้ และมีแนวโน้มว่ามลรัฐอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกาจะอนุมัติให้ผ่านกฏหมายเกี่ยวกับการใช้ยานพาหนะไร้คนขับเช่น เดียวกันกับ 3 มลรัฐที่กล่าวไปข้างต้นทางกูเกิล ยืนยันว่า ในการทดสอบ 300,000 ไมล์นั้น เกิดอุบัติเหตุเพียงครั้งเดียว หนำซ้ำ อุบัติเหตุดังกล่าวไม่ได้เกิดขี้นจากตัวยานพาหนะไร้คนขับ แต่เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ (Human Error)
แนวโน้มของยานพาหนะไร้คนขับในประเทศไทย
ภาควิชาแมคคาทรอนิกส์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) ได้ริเริ่มพัฒนาระบบยานยนต์ไร้คนขับมาแล้วหลายรุ่น ทั้ง 4 ล้อ และล่าสุด กำลังพัฒนายานไร้คนขับ 2 ล้อ หรือ จักรยานไร้คนขับ ที่จะทำให้สามารถวิ่งได้ 65 เมตร ด้วยความเร็ว 10 กม./ชม. ทำมุมเอียงได้ไม่เกิน 20 องศา โดยประยุกต์ระบบจีพีเอสมาใช้ในการควบคุมทิศทาง นอกเหนือไปจาก สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียแล้ว ก็ยังมีมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงในการพัฒนาในด้านนี้ เช่น ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้พัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ ซึ่งได้รับรางวัลในระดับโลกมากมาย อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นโดยสถาบันการศึกษาดังกล่าว ยังไม่ถูกนำไปขยายผล/ต่อยอดในเชิงพาณิชย์มากนัก
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยียานพาหนะไร้คนขับในทางทหาร
ยานพาหนะไร้คนขับแบบหนึ่งที่ถูกพัฒนา ขึ้นมารองรับความต้องการทางทหารที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ ยานยนต์ไร้คนชับ Guardium UGV ของกองทัพบกอิสราเอล ซึ่งเป็นยานพาหนะกึ่งไร้คนขับ ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิวัติการใช้งานยานยนต์ในภารกิจในการลาดตระเวน เพื่อพิสูจน์ทราบ คุ้มครอง และป้องกันกำลังรบ หรือ ภารกิจส่งกำลังบำรุง และอื่นๆ อีกมากมาย โดยถูกออกแบบให้ดำเนินการในภารกิจที่มีลักษณะภารกิจที่ต้องทำเป็นประจำ (Routine missions) อย่างไรก็ตามสามารถโปรแกรมให้ตอบสนองต่อภารกิจที่นอกเหนือจากภารกิจที่ต้อง ทำเป็นประจำได้อีกด้วย อีกทั้งการออกแบบ ในลักษณะ Modular Design ทำให้ Guardium UGV สามารถปรับเปลี่ยน Pay Load ให้สอดคล้องกับภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความเป็นไปได้ในพัฒนาเทคโนโลยียานพาหนะไร้คนขับของกองทัพ
ถ้าหากจะให้คำตอบว่า “มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่กองทัพจะพัฒนาเทคโนโลยียานพาหนะไร้คนขับ เพื่อมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลให้กับปฏิบัติการทางทหาร” จำเป็นจะต้องพิจารณาความพร้อมในด้านต่างๆเมื่อพิจารณาจากพัฒนาทางด้าน เทคโนโลยียานพาหนะไร้คนขับที่มีการพัฒนาไปในระดับหนึ่งในสถาบันการศึกษา หลายๆ สถาบันในประเทศไทย เช่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ลาดกระบัง ซึ่งผลงานของสถาบันดังกล่าว ได้ปรากฏอย่างเด่นชัด ทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก จากข้อมูลเชิงประจักษ์ดังกล่าว สามารถยืนยันได้ว่า ประเทศไทย มีความพร้อมในเทคโนโลยีด้านนี้ ในระดับหนึ่งแล้ว นอกเหนือไปจากนั้นกระทรวงกลาโหมก็มี “สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ” ซึ่งมีแผนแม่บทในการพัฒนายานไร้คนขับที่ผ่านการอนุมัติจากสภากลาโหมเป็นที่ เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น จึงไม่ใช่สิ่งที่น่าจะเกินความสามารถของคนไทยเมื่อพิจารณาในมุมของความต้องการทางทหารแล้ว จะเห็นได้ว่า มีแนวโน้มสูงมากที่กองทัพจำเป็นจะต้องนำระบบยานพาหนะไร้คนขับมาประยุกต์ใช้ ในทางทหาร เช่น ภารกิจการลาดตระเวน ในรูปแบบต่างๆ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการทหารทั้ง ปฏิบัติการทางทหารตามแบบ และปฏิบัติการทางทหารเพื่อรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ และลดอันตรายที่จะเกิดกับกำลังพล รวมไปถึงการลดค่าใช้จ่ายคงที่ต่างๆ จากการพิจารณาจากปัจจัยทั้ง 2 ประการข้างต้น (ความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี และความต้องการของกองทัพ) สามารถตอบได้ว่า “มีความเป็นไปได้สูงมาก ที่กองทัพจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยียานพาหนะไร้คนขับ เพื่อมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลให้กับปฏิบัติการทางทหาร” ถ้าหากมีการบูรณาการอย่างชัดเจนระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการบูรณาการที่กล่าวถึง “ถือว่าเป็นสุดยอดแห่งความท้าทายต่อการดำเนินการ ภายในบริบทสังคมไทย”